มรดกโลก “บ้านดิน” (土楼-ถู่โหลว) ของชาวจีนฮากกา

ในช่วงสงครามเย็น(Cold War- ค.ศ. 1947-1991) เป็นช่วงของการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก และเพื่อเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของฝ่ายตน การแข่งขันด้านการสำรวจอวกาศและอาวุธนิวเคลียร์จึงเกิดขึ้น ในยุค 60 ของศตวรรษที่ 20 ดาวเทียมของหน่วยข่าวกรองสหรัฐได้จับภาพวัตถุคล้ายปล่องปล่อยจรวดนิวเคลียร์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตพื้นที่แนวเขาตอนในของมณฑลฝูเจี้ยน สร้างความตระหนกใจแก่ฝ่ายโลกตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง จึงเริ่มทำการเก็บภาพผ่านดาวเทียมของวัตถุต้องสงสัยเหล่านี้เพื่อเป็นการตรวจสอบในเชิงลึก

ในช่วงสงครามเย็น(Cold War- ค.ศ. 1947-1991) เป็นช่วงของการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก และเพื่อเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของฝ่ายตน การแข่งขันด้านการสำรวจอวกาศและอาวุธนิวเคลียร์จึงเกิดขึ้น ในยุค 60 ของศตวรรษที่ 20 ดาวเทียมของหน่วยข่าวกรองสหรัฐได้จับภาพวัตถุคล้ายปล่องปล่อยจรวดนิวเคลียร์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตพื้นที่แนวเขาตอนในของมณฑลฝูเจี้ยน สร้างความตระหนกใจแก่ฝ่ายโลกตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง จึงเริ่มทำการเก็บภาพผ่านดาวเทียมของวัตถุต้องสงสัยเหล่านี้เพื่อเป็นการตรวจสอบในเชิงลึก

สิ่งที่นักวิจัยของหน่วยข่าวกรองสหรัฐพบก็คือ วัตถุกลมๆ ต้องสงสัยเหล่านี้ไม่มีความเป็นโลหะธาตุ ซึ่งสร้างความฉงนใจแก่นักวิจัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้ภายหลังจากการเปิดประเทศจีนใหม่ๆ นักท่องเที่ยวชาวสหรัฐกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามายังเขตฝูเจี้ยนตอนใน คือ นักวิจัยจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐที่พกเอาความเคลือบแคลงใจ เดินทางมาค้นหาว่าวัตถุต้องสงสัยเหล่านี้คืออะไร

ในที่สุดการค้นหาได้สิ้นสุดลง สิ่งที่ตั้งตระง่านอยู่ตรงหน้าของนักวิจัยเหล่านั้น คือ สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นด้วยดิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านดิน” (土楼-ถู่โหลว)บ้านดินเหล่านี้เป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวจีนฮากกา(จีนแคะ) หรือ客家人ซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่ในเขตพื้นที่แนวหุบเขาซึ่งเป็นรอยต่อของมณฑลฝูเจี้ยน เจียงซีและกว่างตง

จีนฮากกา(จีนแคะ) กับบ้านหลังใหญ่

yongding4

ที่มาของ “บ้านดิน” มีความหลากหลาย โดยเรื่องเล่าที่ชาวหลงเหยียน(龙岩) พูดกันบอกต่อปากจนถึงปัจจุบัน คือ มาจากแนวความคิดในการสร้างบ้านจากแร่ทองของชาวจีนฮากกาในอำเภอหย่งติ้ง(永定县) เมืองหลงเหยียน(龙岩市) มณฑลฝูเจี้ยน ในราวศตวรรษที่ 10-11(ปลายราชวงศ์ถัง ต้นราชวงศ์ซ่ง) โดยชาวบ้านจะนำดินเหนียวที่มีอยู่มากในท้องที่ มาผสมเข้ากับทรายและขี้เถ้า และทำการอัดดินให้แน่นตามโครงสร้างที่ทำขึ้น ทำให้เกิดวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรง หาง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ และมีสีสันประดุจ“ทอง”ต่อมาจึงเป็นที่แพร่หลายในศตวรรษที่ 13

แต่เดิม ผู้ที่สามารถสร้างบ้านลักษณะนี้ได้จะเป็นตระกูลที่ค่อนข้างมีฐานะ โดยบ้านดิน 1 หลัง คือ 1 ตระกูล ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยลูกหลานและบริวารเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็น สังคมขนาดย่อม จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กกลางหุบเขาที่มีความคึกคักไม่เป็นรองที่ใด

“บ้าน”ลักษณะนี้ของชาวจีนฮากกากระจายอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน กว่างตง และเจียงซี แต่สถานที่ตั้งซึ่งเป็นตัวแทนของบ้านดินได้ดีที่สุด คือ อำเภอหย่งติ้ง(永定县) เมืองหลงเหยียน(龙岩市) และอำเภอหนานจิ้ง(南靖县) เมืองจางโจว(漳州市) ของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดชาวจีนฮากกาอย่างแท้จริง

ในส่วนของอำเภอหย่งติ้ง(永定县) เมืองหลงเหยียน(龙岩市) เป็นเขตที่ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนบ้านดินจำนวน 46 หลัง ทำให้เป็นมรดกโลกลำดับที่ 36 ของประเทศจีน องค์ประกอบหลักในการพิจารณา คือ บ้านดินที่ปลูกสร้างขึ้นในเขตนี้มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่สลับซับซ้อน มีความสวยงามและแปลกตา และมีการรวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมาก โดยบ้านดินในอำเภอหย่งติ้ง(永定县) คิดเป็นร้อยละ 70 ของบ้านดินชาวจีนฮากกาทั้งหมดในประเทศ

เอกลักษณ์เด่นของ “บ้านดิน”

ที่ตั้งของบ้านดินส่วนใหญ่จะอยู่ในซอกเขาลึก โดยบ้านดินแต่ละหลังจะมีเอกลักษณ์เด่นเป็นของตัวเอง เนื่องจากมีการคำนึงถึงระบบนิเวศในการปลูกสร้างซึ่งมีความเหมาะกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง เป็นความงามที่ผสมผสานกันระหว่างธรรมชาติกับอาคารที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ลักษณะภายนอกของบ้านดินมีรูปทรงตามแบบเลขาคณิตที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นทรงกลม ครึ่งวงกลม(รูปตัว D) สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส ห้าเหลี่ยม แปดเหลี่ยม เหตุผลที่ทำให้บ้านดินแต่ละหลังมีรูปทรงไม่เหมือนกัน คือ สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติโดยรอบ ความสะดวกในการก่อสร้าง และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดอย่างเหมาะสม ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม บ้านดินที่มีทรงกลมสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนภายนอกได้มากที่สุด สำหรับชาวจีนฮากกาแล้วรูปทรงกลมเป็นตัวแสดงถึงการรวมกลุ่ม ความสวยงาม และความสุข

yongding3

ภายในตัวบ้านดินเปรียบเสมือนลานกว้างของห้างสรรพสินค้า โดยรอบจะเป็นห้องพักหลายห้องอยู่ติดกัน ซึ่งปริมาณของห้องก็จะแตกต่างไปตามขนาดของอาคาร บ้านดินส่วนใหญ่จะมีความสูงราว 3 – 4 ชั้น ชั้นล่างสุดจะเป็นโถงกลาง(โต๊ะหมู่บูชาบรรพบุรุษ) ที่พักรับรองแขก ยุ้งฉาง ห้องน้ำ ห้องครัว คอกไก่ และคอกหมู ฯลฯ แตกต่างกันตามประโยชน์การใช้สอยของแต่ละตระกูล นอกจากนี้บ้านดินบางแห่งยังวางโรงศพของจริงไว้ในบริเวรด้านหลังของโต๊ะหมู่บูชาบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าจะสามารถส่งผลดีต่อลูกหลานหรือคนในบ้านได้ เนื่องจากคำว่าโรงศพในภาษาจีนคือ 棺材(กวนฉาย) มีความหมายในด้านสิริมงคลคือ 升官发财(เซิงกวน ฟาฉาย) มีความหมายว่า ตำแหน่งหน้าที่เลื่อนสูงขึ้น เงินทองไหลมาเทมา

ขณะที่ ชั้นบนสุดจะเป็นห้องพักของเจ้าของบ้านและครอบครัว โดยส่วนใหญ่แล้วห้องพักเจ้าของบ้านจะเป็นห้องที่ตั้งในจุดที่มีฮวงจุ้ยดีที่สุดและสามารถชมวิวทิวทัศน์รอบๆได้อย่างชัดเจน ชั้นรองลงมาเป็นที่อยู่อาศัยของข้าทาสบริวาร ช่วงที่เขตหย่งติ้งเฟื่องฟูที่สุด เคยมีผู้อยู่อาศัยในบ้านดินแห่งหนึ่งมากกว่า 800 คน ขณะที่ปัจจุบัน บ้านดินส่วนใหญ่ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างแดน ขณะที่บางแห่งยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 300 คน

สุดยอดบ้านดินของอำเภอหย่งติ้ง (永定县)เมืองหลงเหยียน(龙岩市)

บ้านดินส่วนใหญ่ล้วนแต่ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว หรือสงคราม แต่เป็นที่น่าสนใจที่บ้านดินส่วนใหญ่ต่างมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์และคงความสวยงามอยู่ บ้านดินทรงกลมในอำเภอหย่งติ้ง(永定县)มีทั้งสิ้น 360 หลัง ทรงสี่เหลี่ยมมีทั้งสิ้น 4,000 กว่าหลัง จึงขอเสนอแต่บ้านดินที่ขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น

1. เจิ้นฝูโหลว(振福楼) เป็นบ้านดินยุคใหม่ สร้างโดยต้นตระกูลซู(苏) ผู้มั่งคั่งจากการกิจการใบยาสูบ ในปี ค.ศ.1913 บ้านดินหลังนี้มีการประยุกต์รูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปเข้ากับสถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวจีนฮากกา เป็นบ้านดินที่มีทัศนียภาพโดยรอบสวยงามที่สุดเนื่องจากตั้งอยู่โดดๆ และมีลำธารขนาดใหญ่อยู่ด้านข้าง เป็นบ้านดินหลังที่ทำให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกหลังแรก ในปี ค.ศ.2002

2. เจิ้นเฉิงโหลว(振成楼) สร้างขึ้นโดยสองพี่น้องตระกูลหลิน(林)ในปี ค.ศ.1912 ต้นตระกูลของสองพี่น้องประสบความสำเร็จในกิจการการผลิตมีดตัดใบยาสูบ ซึ่งผูกขาดทั้งในตลาดจีนและตลาดอาเซียนในยุคนั้น บ้านดินแห่งนี้เป็นรูปแบบของคำนิยามความหรูหราตามสไตล์ชนบท

3. หรูเซิงโหลว(如升楼) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1875 เป็นบ้านดินทรงกลมที่มีขนาดกะทัดรัดที่สุด แต่คงความสวยงามตราบจนปัจจุบัน

4. เฉิงฉี่โหลว(承启楼) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1628 เป็นบ้านดินทรงกลมที่ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุด

“มรดกโลก”กับคุณค่าที่แท้จริง 

บ้านดินเป็นผลิตผลจากการตกผลิตทางด้านความคิดของชาวจีนฮากกา ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยม เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชาวจีนฮากกา เฉลียวฉลาด เรียบง่าย ซื่อตรง ขยันขันแข็งและอดทน เป็นคำนิยามถึงความเป็นจีนฮากกาได้ดี ในสมัยโบราณเป็นการยากที่ชาวบ้านในบ้านดิน ซึ่งอยู่ในหุบเขาลึกเช่นนี้จะได้มีโอกาสพบเจอคนภายนอก แต่ชื่อเสียงของสินค้าประเภทของแห้ง(สินค้าเกษตร) ใบยาสูบ ฯลฯ กลับมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวจีนมาเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้ผลิตโดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบ้านดินแทบทั้งสิ้น

คุณค่าของบ้านดินที่มีต่อชาวฮากกาสามารถสรุปได้ คือ

1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่ยิ่งใหญ่ของจีน เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงอารยะธรรมที่เฟื่องฟูของชาวจีนฮากกา

2. คุณค่าทางศิลปะ ความสวยงามแบบเรียบง่าย ความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ความประณีตในการตกแต่ง

3. คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ เป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านล้วนๆ ควรค่าแก่การศึกษา

เปิดประตูการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

อำเภอหย่งติ้ง(永定县)อยู่ในหุบเขาลึกของเมืองหลงเหยียน เส้นทางการคมนาคมหนึ่งเดียวที่สามารถเข้าไปถึง คือ ทางบก นักท่องเที่ยวและนักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านดินโดยใช้รูปแบบและเส้นทางการเดินทางเหล่านี้

1. เดินทางจากสถานีรถประจำทางหูบินหนาน(湖滨南汽车站) ในเมืองเซี่ยเหมิน(厦门市) มายังเมืองหย่งติ้ง(永定县)โดยตรง โดยในแต่ละวันจะมีรถวิ่งระหว่างเส้นทางเซี่ยเหมิน-หย่งติ้งราว 3-4 รอบ สนนราคาราว 70-80 หยวน แต่เมื่อถึงตัวอำเภอต้องนั่งรถโดยสารที่วิ่งตลอด 15-20 นาที หรือสามารถเลือกนั่งรับจ้างเข้าไปยังบ้านดินที่อยู่กระจายกันในพื้นที่

2. จ้างเหมารถตู้จากเมืองเซี่ยเหมิน(厦门市)ไปได้ โดยสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 700-1,200 หยวนต่อวัน(ไม่รวมค่าทางด่วน)

3. แพ็กเกจเที่ยวภายในวันเดียวผ่านบริษัททัวร์ในเเมืองเซี่ยเหมิน(厦门市)ซึ่งมีสนนราคาประมาณ 200-300 หยวน

ระยะเวลาในการเดินทางจากเมืองเซี่ยเหมิน(厦门市)ไปยังหย่งติ้ง(永定县)ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง สามารถเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับได้ภายในวันเดียว

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวบ้านดินนอกจากจะเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศทางฝั่งตะวันออกแล้ว นักท่องเที่ยวจากอาเซียน(ไม่ว่าจะเป็นชาวสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน) ฮ่องกง และไต้หวันก็นิยมเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความผูกพันกับ “บ้าน” หลังนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศและเขตอาณาข้างต้นมีชาวจีนฮากกาอยู่มาก ซึ่งบางส่วนก็เป็นลูกหลานของผู้สร้างบ้านดินเหล่านี้ด้วย

Comments

comments