ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานานมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานานมีอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มักจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนอยู่กับที่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน และไม่ได้ขยับตัวเลย ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ซึ่งจะซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่ก่อนแล้วแย่ลงไปอีก

ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานานมีอะไรบ้าง?

ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

  1. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ลดลงวันละ 1-3% ต่อวัน
  2. มีปัญหาข้อติด ซึ่งเกิดได้ทุกข้อ เนื่องจากอยู่ในท่าเดิมนานๆ และไม่ได้ขยับตัว เช่น
    • ข้อไหล่ติด ไม่สามารถยกขึ้นแนบหูได้
    • ข้อศอกติดในท่างอ ทำให้ไม่สามารถเหยียดข้อศอกได้ทุกข้อ
    • ข้อมือติดในท่ากระดกลง
    • นิ้วมือกำแน่น ไม่สามารถกางออกได้
    • ข้อสะโพกและข้อเข่าติดในท่างอ
    • ข้อเท้าติดในท่าจิกลง

    ซึ่งการติดของข้อต่าง ๆ ก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ เช่น การติดของข้อไหล่ทำให้ไม่สามารถเอื้อมมือหยิบของได้ การติดของข้อศอกทำให้มีปัญหาการใส่เสื้อผ้า การติดของข้อนิ้วมือทำให้หยิบจับไม่สะดวก การติดของข้อสะโพก ข้อเข่าและข้อเท้า ทำให้เป็นอุปสรรครต่อการเดินในอนาคต เนื่องจากขาสั้นยาวไม่เท่ากัน และการเดินมีการสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าคนปกติ

  3. มือและเท้าบวม เนื่องจากมือและเท้าไม่ได้ขยับ และอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ
  4. เกิดแผลกดทับตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะจุดที่เป็นส่วนนูนของกระดูก เช่น บริเวณของปุ่มบริเวณศีรษะด้านหลัง สะบัก ก้นกบ กระดูกสะโพก กระดูกตาตุ่มด้านนอก เป็นต้น สาเหตุที่มักเกิดตรงบริเวณปุ่มกระดูกเพราะขาดเลือดมาเลี้ยงตรงผิวหนังและเนื้อเยื่อตรงบริเวณนั้น จากการนอนทับเป็นเวลานาน ๆ
  5. เกิดภาวะกระดูกบาง โดยเฉพาะข้อที่รับน้ำหนัก เช่น ข้อสะโพกและข้อเข่า

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

พบว่าในผู้ป่วยที่นอนนาน อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักจะเต้นเร็วกว่าคนปกติ และหัวใจสูบฉีดเลือดต่อครั้งได้น้อยกว่าคนปกติ ร่วมกับมีภาวะหน้ามืด เป็นลมได้ง่าย เมื่อลุกนั่งในทันที

ระบบหายใจ

พบว่าท่านอน การหายใจต่อครั้งจะได้อากาศน้อยกว่าท่านั่ง เพราะมีลำไส้มาดันกระบังลม ทำให้กระบังลมทำงานได้น้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยไอไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ และการนอนอยู่นิ่ง ๆ ทำให้มีการตกค้างของเสมหะในแขนงของหลอดลม ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้เกิดภาวะปอดบวมติดเชื้อ และปอดแฟบได้ง่าย

ระบบประสามสัมผัสและอารมณ์

มีการศึกษาพบว่า การมองเห็นจะลดลง มีภาวะหูตึงมากขึ้น และมีอารมณ์แปรปรวนง่าย เช่น วิตกกังวลหรือซึมเศร้า เป็นต้น

มีวิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนอย่างไรบ้าง?

จากข้างต้นจะเห็นว่าการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจะได้ผลดีกว่ามาแก้ปัญหาเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ซึ่งการป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือในการทำงานและประสานงานของฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ แพทย์เจ้าของไข้ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด เป็นต้น

โดยในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีการดูแลโดยรวม ดังนี้

  1. การจัดท่าของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยให้ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ลำตัว ข้อสะโพก ข้อเข่าและข้อเท้า ให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม
  2. การพลิกตะแคงตัว เพื่อป้องกันแผลกดทับและข้อติดถ้าผู้ป่วยรู้ตัว และสามารถพลิกตะแคงตัวได้ ให้พยายามตะแคงตัวบ่อย ๆ ทุก 30 นาที ยกเว้นช่วงที่นอนหลับในกรณีที่ไม่รู้สึกตัว ควรพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง โดยเปลี่ยนท่าสลับกันไป ตั้งแต่ตะแคงซ้าย นอนหงาย ตะแคงขวา นอนคว่ำ (ถ้าทำได้) โดยญาติ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด
  3. การจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งบ่อย ๆ โดยการไขหัวเตียง โดยเริ่มให้หัวเตียงสูงครั้งละ 15-30 องศา ถ้าผู้ป่วยสามารถบอกและสื่อสารได้ ถ้าไม่มีอาการมึนศีรษะให้ปรับขึ้นได้อีก จนสามารถนั่งได้ตรง 90 องศา แต่ถ้ามีอาการมึนศีรษะให้ปรับลงจนไม่มึนศีรษะ แล้วรอ 15-20 นาที จึงค่อย ๆ ปรับขึ้นใหม่
  4. การบริหารข้อต่าง ๆ ถ้าผู้ป่วยสามารถทำได้เอง ให้หมั่นยกข้อไหล่ให้แนบติดหู งอและเหยียดข้อศอกจนสุดมุม กระดกข้อมือขึ้นลง กำมือและแบมือจนสุด งอและเหยียดข้อสะโพกจนสุด กางและหุบข้อสะโพกจนสุด งอและเหยียดข้อเข่าจนสุด กระดกข้อเท้าขึ้นลงจนสุด งอและเหยียดนิ้วเท้าจนสุดแต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ให้พยายามให้ทำมากที่สุด ที่เหลือให้ญาติ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัดช่วยทำต่อ โดยทำข้อละ 3-5 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น
  5.  ฝึกหายใจแบบใช้กระบังลม และฝึกหายใจเข้าเต็มที่
  6. ในรายที่สามารถนั่งได้ ให้พยายามนั่งข้างเตียงบ่อย ๆ โดยมีญาติคอยดูแล
  7. ในรายที่อาการดีขึ้นและไม่มีสายทางการแพทย์ และปลอดสามารถลงมาฝึกทำกายภาพบำบัดที่ชั้นล่างตึกกระดูกและข้อได้ จะได้ประโยชน์มาก เพราะมีความพร้อมของเครื่องมือมากกว่าบนหอผู้ป่วย

Comments

comments