เทรนด์ กูเกิล 2012 จากตัวจริง สาวไอที! พรทิพย์ กองชุน (ชอบส่วนตัว)

ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐเปิดใจหัวหน้าฝ่ายการตลาด “พรทิพย์ กองชุน” กับภารกิจก้าวใหม่ของกูเกิล ประเทศไทย ภายใต้ 4 แนวทางหลักพร้อมความสำคัญในด้านการค้นหา การสื่อสาร และมือถือ…

 

porntip_konchun004

 

ไลฟ์สไตล์ หรือการดำเนินชีวิต ที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว และกำลังขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ชีวิตของเราต้องการการเชื่อมโยงมากขึ้น ข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป งานเอกสารในโน้ตบุ๊ก รูปภาพในสมาร์ทโฟนคู่ใจ ยังไม่นับรวมการดึงข้อมูลเหล่านั้นขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ พร้อมแบ่งปันเรื่องราวไปสู่กลุ่มเพื่อน เพื่อนร่วมงาน และบุคคลอื่นๆ

 

“ทีมข่าวไอทีออนไลน์” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นางสาวพรทิพย์ กองชุน” หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย ซึ่งมาบอกเล่าการเดินทางในก้าวที่เติบโตขึ้นของ “กูเกิล” ว่า นับจากที่มีการเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้ว กูเกิล ประเทศไทย จะมีแนวทางแปลกใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งเรานำความน่าสนใจมาเสิร์ฟให้ผู้อ่านทุกท่านตั้งแต่บรรทัดต่อไป…

 

คำถาม : ในปีนี้ ‘กูเกิล’ ตั้งใจสะท้อนภาพลักษณ์ออกมาในแนวทางใด

พรทิพย์ : สิ่งที่เราต้องการจะบอกกับคนไทยในปีนี้คือ กูเกิลมีออฟฟิศในไทยแล้ว ซึ่งเพิ่งเปิดได้ 6 เดือนเท่านั้น ที่อยากบอกเพราะถือเป็นเรื่องใหม่สื่อถึงความสำคัญและศักยภาพของผู้ใช้ชาวไทยที่กูเกิลเล็งเห็น แม้ผลิตภัณฑ์ เช่น การค้นหา หรือแผนที่ของกูเกิลจะเป็นที่รู้จักของคนไทย และเริ่มต้นใช้งาน www.google.co.th ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา การเปิดออฟฟิศในประเทศไทยเป็นการย้ำว่าเรามีบุคลากรที่พร้อมพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานมากขึ้น

 

สำหรับเป้าหมายในการตั้งออฟฟิศกูเกิลจะเน้น 4 แนวทางหลัก เพื่อส่งเสริมการใช้งานและพัฒนาชีวิตผู้ใช้ชาวไทย คือ 1.เสิร์ช (Search) ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การเสิร์ชจากคอมพิวเตอร์แต่ยังมองถึงการเข้าถึงข้อมูลผ่านช่องทางอื่น ทั้งมือถือและแท็บเล็ตที่ต้องเน้นประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเราทำมาโดยตลอด 2.นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดที่สามารถส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลในชีวิตประจำวันและธุรกิจของคนไทย 3.เพิ่มคอนเทนต์ภาษาไทยให้มากขึ้น และ 4.ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยนำออนไลน์มาใช้ในธุรกิจ เพราะเรามั่นใจว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคือประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งที่กูเกิล ประเทศไทยมุ่งมั่นและทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและในปีนี้

 

คำถาม : บริการที่กูเกิลพัฒนาเพื่อคนไทยมีอะไรบ้าง

พรทิพย์ : นอกจาก www.google.co.th กูเกิลยังมีอีกกว่า 23 บริการที่รองรับภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การค้นหา การสื่อสาร และมือถือ จะเห็นว่ากูเกิลให้ความสำคัญที่การค้นหาเป็นพิเศษ ปัจจุบันมีการค้นหาที่เรียกว่ายูนิเวอร์แซล (universal) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกูเกิลที่ต้องการเป็นผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดในโลกมาประมวลเป็นรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ขณะเดียวกัน กูเกิลก็ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การใช้งานบริการกูเกิลบนสมาร์ทโฟนด้วย

 

ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนคิดเป็น 28% ของจำนวนผู้ใช้มือถือ ซึ่งมากกว่า 45% ของจำนวนดังกล่าว มีการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ เช่น เช็กเมล์ ใช้งานแอพพลิเคชั่น หรือเล่นเกมส์ ทำให้กูเกิลเล็งเห็นโอกาสจากแนวโน้มดังกล่าว นอกจากนี้ ยังรวมถึงประสบการณ์ใช้สมาร์ทโฟนจากผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่กูเกิลเป็นผู้พัฒนา ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสูงสุดในโลกด้วยจำนวน 1 หมื่นล้านครั้ง และมีดีไวซ์ต่างๆ ทั่วโลกใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ประมาณ 7-7.5 แสนเครื่องต่อวัน

คำถาม : สิ่งไหนที่จะอยากเน้นหนักในปีนี้คืออะไร

พรทิพย์ : กูเกิลยึดถือจากสิ่งที่ผู้ใช้บอก สำหรับในประเทศไทยปีนี้เรายังคงมุ่งเน้น 3 กลุ่มที่บอกไปแล้ว ทั้งการค้นหา การสื่อสาร และมือถือ ภายใต้แนวคิดในการดึงเรื่องออฟไลน์ให้เป็นออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการและการใช้งานในยุคดิจิตอล นอกจากนี้ ยังมีการสานต่อความร่วมระหว่างกูเกิลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในโครงการกูเกิล สตรีทวิว ซึ่งมีการนำรถออกเก็บภาพรายละเอียดถนนและสถานที่ต่างๆ เป็นรูปแบบเวอร์ชวลใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งคาดว่าพร้อมเปิดตัวได้ในเร็วๆ นี้ แต่ด้วยความละเอียดในการพัฒนาเป็นภาพ 360 องศา จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วนัก โดยเป้าหมายต่อไปคือ การเก็บรายละเอียดทั่วประเทศ เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยตอบสนองด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจในท้องถิ่น และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี

 

แม้บริการต่างๆ ของกูเกิล จะสามารถตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ในวงกว้าง แต่เราก็คำนึงถึงและให้ความสำคัญกับผู้ใช้แต่ละกลุ่มด้วย ทั้งคนทั่วไป กลุ่มธุรกิจ หรือนักเรียน เพื่อช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้จากหลากหลายบริการ

 

คำถาม : ความเป็น “กูกลี้” ของบุคลากรกูเกิลมีลักษณะอย่างไร

พรทิพย์ : คำว่า กูกลี้ (Googley) เป็นคุณลักษณะของผู้ที่ทำงานให้กูเกิล บุคลิกของกูเกิลสะท้อนออกมาจากความรักและตั้งใจในการทำงานของบุคลากร ต้องมีทั้งความมุ่งมั่นและเชื่อมั่น เรายึดถือการทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ ทำให้ทุกสิ่งออกมาดีที่สุด ภายใต้บุคลิกที่ต้องสามารถทำงานร่วมกับคนในองค์กรได้ เปิดกว้างพร้อมรับสิ่งใหม่และชอบความท้าทาย เพราะนวัตกรรมมีการพัฒนาทุกวัน งานของเราไม่เคยเกิดขึ้นจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เกิดจากหลายฝ่ายร่วมมือกัน เราทำงานกันแบบคนในครอบครัว มีความเคารพและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะเราตั้งใจจะเปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรมที่เราพัฒนา

 

คำถาม : มองพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและกูเกิลในประเทศไทย มีแนวโน้มอย่างไร

พรทิพย์ : ในส่วนที่กูเกิลพัฒนาในปัจจุบัน จะเห็นแนวโน้มการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความสนใจ จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการเกิดกูเกิลเสิร์ชพลัสและกูเกิลพลัส เพื่อทำให้ประสบการณ์ดังกล่าวดียิ่งขึ้นผ่านการแชร์เรื่องราวร่วมกัน มีตัวเลขจากการสำรวจระบุว่า 81% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย นิยมค้นหาข้อมูลจากเสิร์ชเอนจิ้นประกอบการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน ยังพึ่งพาโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจด้วย

 

ขณะเดียวกัน เราเชื่อว่าบราวเซอร์จะสามารถสร้างเรื่องราวที่ดีให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้ได้ เรามีกูเกิลโครม (Google Chrome) ซึ่งเปิดให้บริการมา 3 ปี เวอร์ชั่น ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ 17 ยืนยันได้ว่า เราพัฒนาและปรับปรุงฟีเจอร์เพื่อรองรับการใช้งานใหม่ๆ และความปลอดภัยในการใช้งานอยู่ตลอด ซึ่งเรามีแคมเปญระยะยาวชื่อว่า เว็บคือทุกสิ่งที่คุณสร้างสรรค์ ที่เปิดตัวเมื่อเดือน มิ.ย.2554 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ตระหนักถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ และมีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีของคนไทย ทำให้กูเกิลโครมสามารถเป็นบราวเซอร์อันดับ 2 ที่มีผู้ใช้ชาวไทยนิยมใช้ ภายใต้แนวทางความรวดเร็ว ปลอดภัย และใช้งานง่าย

 

คำถาม : กระแสความนิยม ‘กูเกิลพลัส’ เป็นอย่างไรบ้าง

พรทิพย์ : กูเกิลพลัส เปิดตัวเมื่อเดือน มิ.ย.2554 จัดอยู่ในหมวดบริการด้านการสื่อสาร เป็นโซเชียลแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์การใช้อินเทอร์เน็ตของคนในปัจจุบัน ที่มีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นชุมชน เช่น ครอบครัว เพื่อนในออฟฟิศ เพื่อนเก่า ทำให้ผู้ใช้สามารถแบ่งปันเรื่องราวให้กับเฉพาะกลุ่มได้ ขณะเดียวกัน ก็มี Hang Out ช่วยแบ่งปัน หรือค้นหากลุ่มเพื่อนที่สนใจเรื่องราวเดียวกันได้อย่างง่ายดาย

 

ปัจจุบันอัตราการใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 90 ล้านราย ถือเป็นการเติบโตที่น่าสนใจ เนื่องจากช่วงก่อนหน้าตัวเลขผู้ใช้งานอยู่ที่ 40 ล้านราย แต่กลับเพิ่มขึ้นได้ถึง 90 ล้านราย ภายใน 12 สัปดาห์ สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นคาดว่ามาจากการเป็นโซเชียลแพลตฟอร์ม และการพัฒนาที่กูเกิลเปิด 1 ฟีเจอร์ใหม่ทุกวัน ทำให้ปัจจุบันมีการอัพเดตมากกว่า 200 อัพเดต นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเพจเพื่อธุรกิจ ทั้งนี้ เรายังพบว่าผู้ใช้กูเกิลพลัสกว่า 60% มีการใช้งานทุกวัน และกว่า 80% มีการใช้งานทุกสัปดาห์.

Comments

comments